ชีวิต..ชาวสวนยาง 2022

Last Updated: 02/12/2023By

ชีวิต..ชาวสวนยาง 2022

เกริ่นเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับการทำสวนยาง

การทำสวนยาง  เป็นงานที่เหนื่อยแต่สนุกหากเรารักจะทำ แต่หากเราไม่รักจะทำ มันจะเหนื่อยมากๆๆ   แต่หากเราคิดว่าสิ่งที่เราต้องการคือการได้ออกกำลังกาย การได้เป็นนายของตัวเอง แม้จะมีความสุ่มเสี่ยงบ้างในเรื่องรายได้บ้าง ยิ่งหน้าฝนแล้วจะสุ่มเสี่ยงมากในการหารายได้ 

วันนี้ จะมาเล่าชีวิตชาวสวนยางให้ฟัง หลังจากที่หลุดพ้นจากวงโคจรของการเป็นหุ่นยนต์ ในระบบมาหลายปี กลับมายังสวนยางอีกครั้ง เป็นสิ่งเดียวที่ไม่ทิ้งตลอดมาของชีวิต แม้ว่าจะอยู่ในสังคมสถานะใด  ยังคงปลีกตัวเพื่อจะทำมาตลอด 

มันเป็นความโชคดีที่ไม่ทิ้งเรื่องสวน ไม่หลงกับสิ่งที่สังคมมอบให้   ชีวิตก็เลยแค่เปลี่ยนอาชีพ จากเดิมเป็นงานอดิเรก จนตอนนี้ หลายมาเป็นงานหลักเต็มตัว 

ในการทำสวนนี้ สิ่งแรกที่เราคิดคือ เราจะทำสวนอะไร ขอไม่เอ่ยถึงสวนชนิดอื่นในเชิงเปรียบเทียบ เดี่ยวจะมีปัญหา ถกเถียงกันเปล่าๆๆ    แต่ในบทความนี้ เป้าหมายเดียวคือทำสวนยางเท่านั้น

เพราะอะไร ถึงสวนยางอย่างเดียว

 

น่าจะมาจากพื้นฐานของครอบครัว การถูกปลูกฝังมาทางด้านการทำสวนยาง โดยการสอนในเชิงทำงานเพื่อของครอบครัว 

ตั้งแต่เล็กจนโต พ่อกับแม่ พาเข้าไปสวนยางตลอด  ตอนเด็กอาจจะเหนื่อยและเบื่ออย่างมาก  ทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย แต่มาถึงตอนนี้ ก็ได้แต่ขอบคุณพ่อกับแม่ ที่ให้วิชาโดยที่เราไม่รู้ตัว เป็นวิชาที่ไม่ใช่ใคร ๆๆ นึกจะทำ แล้วทำได้ทันที

ความเหนื่อย ความร้อน ความเบื่อ มันทำให้เราขยัน เพื่อหลีกหนีจากตรงนั้น เพื่อไปยังจุดที่ดีกว่าที่เขาเรียกว่า ราชการ  แต่ ด้วยความที่เป็นลูกชาวสวน ชาวนา ความเคยชิน เพราะทำมาตลอด แม้มาทำราชการแล้ว มันก็เลยฝังในตัวเองให้เกิดความชอบ เปลี่ยนจากเดิม ทำเพราะขัดพ่อกับแม่ไม่ได้ มาเป็นทำด้วยใจรัก 

รักที่จะทำ  ทำเพราะเคยทำ ทำตามความเคยชิน ความคุ้นเคยกับสภาพสิ่งแวดล้อม อากาศดี อยู่กับธรรมชาติ  มีความสุขเมื่อได้ย่างกราย เข้าไปในสวน

มันเป็นความภูมิใจ ที่เราสามารถฝ่าฝันความลำบากในการสร้างสวนของเราขึ้นมา  ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น อาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อจุนเจือรายงานเสริม และเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด ด้วยแรงกายของตัวเอง  นอกเหนือจากเวลาที่ต้องใช้ทำอย่างอื่นเพื่อรับเงินประจำแต่ละเดือน

สวนยาง เมื่อก่อนคนที่มีสวนมาก  เขาจะมองมายังพวกที่ทำงานรับเงินเดือนด้วยสายตาดูถูก ว่า พวกเขาดีกว่า  

แต่ ณ ปัจจุบัน คำพูดดังกล่าว ใช้ไม่ได้แล้ว   สวนยาง ตอนนี้ ที่เจอปัญหามากเรื่อง   ราคาตอนนี้ ขึ้นๆๆ ลงๆๆ ฝนตกก็ตัดไม่ได้ (ภาษาปักษ์ใต้  ตัดยางหมายถึงกรีดยาง)  

การทำสวนยาง ข้อดีที่เห็นได้ชัดกว่าทำสวนชนิดอื่นคือมีรายได้เป็นรายเดือน  ย้ำว่า  รายเดือนไม่ได้เป็นรายวัน  เหตุที่ไม่สามารถเรียกว่าเป็นรายได้รายวันได้ เพราะว่าในการตัดยาง ไม่สามารถตัดยางได้ทุกวัน (ตัดยาง ความหมายคือกรีดยาง ) บางวันฝนตกก็ตัดยางไม่ได้   บางทีตัดยางเสร็จ ฝนตก (เขาเรียกว่าฝนราดหน้ายาง) ก็ไม่ได้น้ำยางแล้ววันนั้น    หรือไม่ก็บางทีเว้นยาง ก็ไม่ได้ตัดยาง  (เว้นยาง คือหยุดไม่กรีดยาง  ยกตัวอย่าง สมมุติ ว่าเราตัดมาแล้ว 3 วัน พอวันที่ 4 ก็หยุดเสีย 1 วันเพื่อให้ยางมันได้พัก ภาษาใต้บางทีก็เรียกว่าหยุดยาง )  

แต่ข้อดีที่เห็นได้ชัดว่าการทำสวนชนิดอื่นคือ  ต้นยาง มันขายได้เมื่อมันได้ขนาดเท่ากับว่าเราปลูกยางเพื่อขายต้นได้  ส่วนสวนชนิดอื่น ไม่แน่ใจว่าขายต้นได้หรือไม่ เพราะไม่เคยทำ 

 

ด้านการตลาด

มาดูทางด้านการตลาดกันบ้าง ตลาดด้านยาง ค่อนข้างจะเป็นตลาดที่กว้าง เพราะมีคนรับซื้อมาก เรียกว่า เป็นตลาดที่ไม่ต้องวิ่งหา บางทีคนซื้อมาซื้อถึงที่

ชาวสวนยางสมัยก่อน จะใช้วิธีการเก็บน้ำยางแล้วเอามารีดเป็นแผ่น  โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้รีดเขาเรียกว่า จักรรีดยาง   จักรรีดยาง จะมีอยู่ 2 ขั้นตอน 

ขั้นตอนแรกรีดให้เรียบก่อน ขั้นตอนต่อมารีดให้เป็นรอยเส้น

 

วิธีการก็โดยการเอาน้ำยางที่ได้มา เทใส่เบ้ายาง (เป็นรูปสีเหลี่ยมทำจากอลูมิเนียม)แล้วใส่น้ำยาฆ่ายางเพื่อให้ยางมันแข็งตัวเร็วขึ้น เมื่อยางเริ่มแข็งก็เอามารีด

ในปัจจุบัน ณ ตอนนี้ น่าจะไม่มีใครทำกันแล้วครับ เพราะต้องใช้เวลามาก บางทีกว่าจะเสร็จก็ติดบ่ายเลย มันยุ่งยาก และรุ่นเก่าต้องหมุนกับมือ ยิ่งเหนื่อย  แต่ปัจจุบันก็มียังมีขาย แต่ได้ปรับปรุงเป็นใช้มอเตอร์แล้วสะดวกสบายขึ้น

ตอนนี้ ส่วนมากชาวสวนยาง เขาจะใช้วิธีขายน้ำยางแทน หรือไม่ก็ทำเป็นเศษยาง (ขี้ยาง) คือตัดเสร็จก็ปล่อยทิ้งไว้ในจอกยาง (คือถ้ายที่ทำจากดินเผา) ทิ้งไว้จนเต็มจอกยาง แล้วก็ลอกออกมาขาย

ขั้นตอนการขาย บางทีมีคนมาซื้อถึงสวนเลย แต่ราคาอาจจะลดนิด หรือไม่ก็ไปขายที่ร้านได้เลยที่เขารับซื้อยางมีเยอะแยะ 

เพื่อเป็นการเรียกลูกค้า บางร้านถึงขั้นบริการรถพ่วงไว้ให้พร้อม เมื่อคนไหนต้องการขายขี้ยาง ก็จะขับรถตัวเองไปเอารถพ่วงที่ร้านรับซื้อยาง แล้วมาเก็บยางใส่รถพ่วงคันดังกล่าวไปขายยังร้านเจ้าขอรถพ่วง

 บางคนอ่านมาถึงจุดนี้คงคิดว่า เก็บแต่ละครั้งเป็นรถพ่วงเลยหรือ  ไม่ใช่ครับ รถพ่วงในที่นี้ ไม่ใช้รถสิบล้อนะครับ แต่เป็นมอเตอร์ไซต์พ่วงข้าง คนปักต์ใต้จะเรียกว่ารถพ่วงกัน ไม่ได้เรียกว่ามอเตอร์ไซต์พ่วงข้าง  อย่างที่รู้กันคนใต้ชอบพูดตัดประโยค คือให้สั้นและเร็วไว้ก่อน 

 ส่วนการทำสวนชนิดอื่น ก็แล้วแต่ ไม่ขอเอ๋ยถึง แต่เท่าที่เคยเห็นสวนข้างๆๆ ที่เขาปลูกปาล์ม ต้องจ้างคนตัดกิ่ง  แล้วจ้างคนตัดลูก แล้วก็ต้องเอารถขับเคลื่อน 4 ล้อ เข้ามาขน และต้องใส่ปุ๋ยให้ครบ ไม่งั้นจะไม่ออกลูก  พอแก่แล้ว ลำต้นเห็นทิ้งเลย  

 

ขั้นตอนการปลูก ไม่ใช่เชิงวิชาการ เล่าสู่กันฟัง

เมื่อเราตัดสินใจแนวแน่แล้วว่า เราจะปลูกยางแล้ว  เราก็มีทางเลือกสองทาง คือ

ทางแรกขอทุน   หมายถึง การไปติดต่อกับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กรณีที่เรามีสวนยางเก่าอยู่แล้ว และต้องการจะโค่นเพื่อปลูกไหม่ 

ลงทุนด้วยเงินทุนของตัวเอง  กรณีการขอทุนไม่แน่ใจแล้ว  ว่าจะเหมือนเดิมหรือมีข้อปลีกย่อยอะไรไหม ก็ต้องไปดูรายละเอียดเอาเอง

 

ในกรณีที่เราปลูกในพื้นที่เก่าที่มีต้นยางแก่ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว 

หากเป็นสมัยก่อน   ต้นยางขายไม่ได้  ก็ต้องใช้วิธีการโค่นทิ้ง และต้นยางเก่าก็ต้องใช้วิธีการเผาทิ้ง แถวๆๆ บ้านเขาจะเรียกว่า เผาปรน คือเผาให้เกลี้ยง

ถ้าเผาแล้วทิ้งไว้มันจะไม่หมด  มันยังเป็นท่อนๆๆ อยู่  ต้องใช้วิธี หาไม้ไผ่ยาวๆๆ มา แล้วเอาไม้กระดานมาตอกที่หัว ทำเป็นลักษณะตัวที ขณะเผา ก็ใช้ไม้นั้นแหละ ดันไม้ยางที่เราต้องการจะเผา เข้าไปในกองไฟเป็นระยะจนกว่าไม้ยาง จะโดนเผาจนหมด   

ลองคิดดู อากาศก็ร้อน แล้วความร้อนจากไฟที่เผาอีก เท่ากับบวกสองของความร้อน มันจะร้อนขนาดใหน ยิ่งสีผิวไม่ต้องพูดถึงครับ  ดำจนเกรียมเลย 

แต่ตอนนี้สบาย แค่เอ่ยว่า จะโค่นยาง มีทีมงานรับซื้อไม้ยางเข้ามาถึงสวนเลย แต่ในจุดนี้ ก็ต้องระวัง คนที่จะมาซื้อไม้ยาง หลายทีมที่เข้ามา อาจจะเป็นทีมเดียวกันก็ได้  ใครนึกไม่ออก ก็ให้นึกถึงการอั้วประมูล  หลักการคล้ายๆๆ กัน

เพราะฉะนั้น ก่อนขายก็ให้ หาข้อมูลว่าต้นขนาดนี้ น่าจะขายได้กี่บาท และมีจำนวนกี่ต้นในสวนเรา แล้วมาลองดูค่าจ่ายใช้กรณีทีสวนของเราอยู่ไกลถนนหลักหรือไม่ และน่าจะขายในฤดูไหน  หากสวนของเราติดถนนใหญ่ น่าจะขายหน้าฝน  หน้าฝน ไม้ยางมักจะขาดตลาด ไม้ยางจะมีน้อย 

จะติดขัดเรื่องเส้นทางการขนไม้ยางออกจากสวน ปัญหาคือไม่มีทางออก เพราะถนนทรุด ไม่มีใครกล้าให้ผ่านทาง หากผ่านเขาก็คิดค่าผ่าน เกิดถนนพังขึ้นมาก็ต้องซ่อมถนนให้เขาอีก นั้นคือปัญหา การของโค่นไม้ยางช่างหน้าฝน

แต่หากสวนเราอยู่ลึกเข้าไปข้างใน เส้นทางค่อนข้างจะขนย้ายลำบาก ก็น่าจะเลือกขายในช่วงหน้าแล้ง เพื่อลดค่าใช้จ่าย  มันอาจจะมีองค์ประกอบอื่นอีกหลายอย่าง ก็ต้องแล้วแต่พื้นที่

 

เตรียมพื้นที่เพื่อปลูกกัน

เมื่อเราจัดการเรื่องต่างๆๆ เสร็จสรรพ  ก็มาเตรียมพื้นเพื่อปลูกกัน สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปักหมบ 

การปักหมบ คือการเอาไม้ไผ่มาตัดให้มีความยาว พอปักแล้วความสูงประมาณระดับสายตา  ปักตามระยะที่เขากำหนดในการปลูก เช่นระยะห่างระหว่างแถว พูดตามบ้านเราเขาเรียกว่า โสด  กับในแต่ละแถวหรือแต่ละโสด ระยะห่างระหว่างต้นห่างกันเท่าไร

เมื่อปักเสร็จก็เริ่มขุดหลุมเพื่อจะปลูก  ขนาดของหลุมจำไม่ได้แล้ว แต่ค่อนข้างใหญ่  แต่หากเราลงทุนเอง ขุดอย่างไรก็ได้ แต่มันจะมีปัญหาในการเจริญเติบโตของต้นยาง

 

 แต่ หากเราขอทุนจะต้องขุดให้ได้ขนาดตามที่เขากำหนด ไม่งั้น จนท.กองทุนเขาจะไม่เซ็นผ่านให้

เมื่อขุดหลุมเสร็จ ก็เริ่มหาพันธุ์ยาง ที่นี้ ก็ต้องถามคนที่เขาปลูกมาก่อนว่าพันธ์ไหนดี ลองหาดู  ไม่แนะนำ เดี่ยวจะเป็นการชี้นำ แต่ส่วนตัว ที่เขาเรียกสั้นว่า 600 ดีกว่า  ที่เขาเรียกว่า 24  เพราะ 24 ตอนตัดยางใหม่ๆๆ จะออกดีมาน่าพอใจ แต่สักพัก ราว สามสี่ปี มีปัญหายางไม่ออก ซึ่งเขาเรียกว่ายางหน้าตาย  แต่ 600 ไม่ค่อยมีปัญหา อาจจะเป็นที่สภาพของพื้นที่ และพันธุ์ไม้ยางที่จัดหามาก็ได้

 

แล้วมันก็จะเข้าช่วงที่เหนื่อยที่สุด คือช่วงยางก่อนจะถึงอายุ 3 ปี

ยางจะสามารถตัดได้เมื่อ อายุประมาณ 7 ปี แต่ก็ต้องดูขนาดของต้นยางประกอบด้วย บางพื้นที่ไม่สมบูรณ์ แม้ 7  ปี แล้ว หากไม่ได้ขนาดก็ยังตัดไม่ได้

แล้วมันก็จะเข้าช่วงที่เหนื่อยที่สุด คือช่วงยางก่อนจะถึงอายุ 3 ปี 

        ตอนนี้ แหละเหนื่อยที่สุด  ต้องคอยถางหญ้า หรือภาษากลางเขาเรียก ดายหญ้า หากปล่อยไม่ค่อยได้ดูแลหรือทำประจำจะรกมาก และเหนื่อยมากๆๆ เวลาใส่ปุ่ย  ยิ่งปล่อยไว้นาน จากถางหญ้า ก็จะกลายเป็นถางป่า  ยิ่งจะเหนื่อยหนักขึ้นไปอีก

 

  แต่ก็ยังโชคดี ที่แค่ร้อน แต่ถ้าบางที อยู่ใกล้ต้นยางใหญ่ หรือมาทำอะไรก็ใด้ ในสวนยาง ที่ใหญ่แล้ว สิ่งที่เจอคือยุงครับ ยิ่งร้อน เหงื่อออก ยุงจะยิ่งมามาก  ลองคิดดู ทั้งร้อน ทั้งคันเพราะยุงกัด แล้วเหงื่อที่ออกด้วย คนไม่เคยทำ น่าจะไม่รอด

          ต้นยางตอนเล็กๆๆ สิ่งที่หนักที่สุดคือการใส่ปุ๋ย เพราะอย่างที่บอก ก่อนการใส่ปุ่ย จะต้องกำจัดวัชพีช หากเราไม่ค่อยได้เข้าดูแล จากวัชพืชกลายเป็นป่ารก ก่อนจะใส่ปุ๋ยก็ต้องเหนื่อยกันยกใหญ่  แต่คนมีเงินเขาก็สบายหน่อย จะใช้วิธีการจ้าง คิดเป็นไร่

การใส่ปุ๋ย  ก็มีตามสูตรแต่ละท้องที่เขานิยมกัน แต่ส่วนมากเขาจะกะเอาตามร่มของใบต้นยาง  หากต้นเล็กก็ขุดให้เป็นร่องเล็กๆๆ รอบๆๆ พุ่มยาง   พอโตหน่อย ก็ขยายวงกว้างขึ้นตามร่มพุ่มของยาง พอใหญ่เต็มที่ก็ใส่ระหว่างร่องยาง หรือระหว่างแถวของยางแทน เพราะตอนนั้นต้นยางแต่ละต้นร่มของมันจะมาชนกันแล้ว

นึกถึงตอนนี้ สิ่งที่หนักอีกอย่าง หากรถเข้าไม่ถึงคือการแบกปุ๋ยที่จะใส่ หนักจริงๆๆ และปุ๋ย มันมีสารเคมีด้วย  พอแบกแล้ว ได้เรื่องทุกที 

 

เมื่อกรีดหรือตัดยางได้

หลังจากที่ได้ปลูกมาแล้ว ประมาณ 7 ปี หรือได้ขนาดตามที่เขากำหนด   ลำต้นเริ่มโตพอจะตัดยางหรือกรีดยางได้ ก็ต้องเริ่มคิดว่าจะตัดเองหรือให้ลูกจ้างตัดยาง การตัดยาง ส่วนมาก หากคนมีฐานะหรือมีหลายสวน ตัดเองไม่ทัน ก็มักจะจ้างเขาตัดยาง แต่ถ้าคนไหนมีสวนไม่มาก ก็มักจะตัดยางเอง

รายได้ที่ได้มาเมื่อขายแต่ละครั้ง บางคนอาจจะแบ่ง 50/50 คือแบ่งกันคนละครึ่ง แต่ลูกจ้างที่ตัดยางจะต้องดูแลงานต่างๆๆ ในสวนเอง คนที่เป็นเจ้าของสวน แค่ดูแลกับแบ่งเงินที่ได้จากการขายยาง  งานในสวนก็มีไม่มาก แค่ปีละครั้ง สองครั้ง   เช่นงานตัดหญ้า หรืองานต่างๆๆ ที่ต้องดูแลสวนก็ต้องให้ลูกจ้างจัดการแทน ส่วนการใส่ปุ๋ย ก็เช่นกันก็แบ่งคนละครี่งกัน ระหว่างเจ้าของสวนกับคนตัด

 

ส่วนกรณีที่แบ่งกัน 60/40  คือเจ้าของสวนเอาไป60 เปอร์เซ็น ที่เหลือลูกจ้างเอาไป หากเป็นแบบนี้ส่วนมาก ลูกจ้างแค่ตัดอย่างเดียวแทบไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอย่างอื่น  ยกเว้นบางเจ้าที่เจ้าของสวนของเล่นตัว เขาอาจจะกำหนดเองได้

 

องค์ประกอบในภาพรวมตอนนี้ เกี่ยวกับลูกจ้าง ก็สำคัญ

การหาลูกจ้างตัดยาง หรือเป็นงานที่หินเช่นกัน  จริงๆๆ แล้ว อย่าเรียกว่าหาเลย ส่วนมากพอยางเริ่มต้นได้ ก็จะมีคนมาทาบทามเพื่อขอตัดยาง

ซึ่งมันเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ลูกจ้างบางคนถูกเอาเปรียบ เพราะมีคนสมัครใจมาขอตัดเยอะ เจ้าของสวนบ้างคน ที่เห็นแก่ตัวก็มักจะยกเงื่อนไขต่างๆๆ ขึ้นมาเอาเปรียบคนตัดยาง

แต่ในมุมกลับกัน การหาลูกจ้าง ก็เหมือนกับการซื้อหวย หากได้ดีก็ดีไป หากได้ไม่ดี ปัญหาต่างๆๆ ตามมาอย่างมากมาย เพราะลูกจ้างบางคนก็วิชามารเยอะ  ยกตัวอย่างบางคน ทันลัก ก็ลักไปขาย บางคนตัดแล้วซ่อนไว้ในลักษณะเป็นรูปแบบอื่นก็มี เช่น ซ่อนไว้ในเชิงเศษยาง แล้วแอบเก็บไปขายเป็นการส่วนตัว 

 บางรายร้อนเงิน แอบเพิ่มผลผลิตโดยเร่งน้ำยางก็มี  พวกนี้จะเจอปัญหาคือไม่นานหน้าตายหมด  บางคนมาแนวใหม่ เจ้าของสวนไม่ค่อยได้มาสวน  แอบตัดต้นยางขายก็มี บางคนใช้ใบมีดเล็กๆๆ กรีดเพื่อเพิ่มน้ำยาง แล้วแบ่งส่วนนั้นไปขาย เพราะได้ปริมาณน้ำยางเพิ่มขึ้นจากถั่วเฉลี่ยแต่ละวัน    

บางคนตัดแล้วหน้ายางไม่สวย ก็ต้องคอยเตือน เพราะมันจะมีปัญหาตอนมันงอกหน้ายางมาใหม่  มาถึงจุดนี้ บางคนที่ไม่เคยทำสวนยางคิดว่า พอเราตัดหรือกรีดเสร็จหน้าหนึ่งแล้ว ก็ไม่สามารถกรีดซ้ำอีก

ไม่ใช่ครับ พอกรีดหน้าหน้าครึ่งต้นเสร็จ ก็ไปกรีดหรือตัดอีกครึ่งต้นที่เหลือ ด้านที่เรากรีดไปแล้วมันก็จะเริ่มปิดแผลเป็นหน้าใหม่ขึ้นมา 

จังหวะนี้ แหละหากกรีดไม่ดี  ที่เกิดใหม่ขึ้นมามันจะเป็นตะปุ่มตะป้ำ กรีดแล้วมีปัญหาอาจจะถึงเนื้อไม้ได้ และเกิดความเสียหายหน้าต้นได้ 

นี่คือข้อระวัง ว่าทำไมต้องกรีดหรือตัดยางให้หน้าสวย  ขนาดความยาวของหน้ายางที่ตัด  ก็สำคัญ บางคนตัดหน้ายางให้ยาว เพื่อให้ยางออกมากก็มี มันจะมีปัญหาตามมาเมื่อเรามาเปิดหน้ายางใหม่ 

จะเห็นว่า มันก็เป็นปัญหา  หากได้คนดีก็ดีไป แต่หากได้คนไม่ดีก็ปวดหัว จะไล่ออก ก็ต้องหาเหตุผลให้ดี ไม่งั้นเกิดปัญหาเปล่า

 

หมดปัญหาเรื่องลูกจ้างแล้วปัญหาต่อมาคือ

ชาวบ้านบริเวณสวนยางหรือข้างสวนยาง   ส่วนมากที่เจอคือพวกเลี้ยงวัว แล้วไม่มีพื้นที่เลี้ยงเพียงพอ ก็จะใช้วิธีการแอบมาล่ามในสวนเรา

พวกวัวนี้ นะครับ ถ้าปล่อยอาจจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าล่ามแล้วมันย้ำรากยางจนไม่โตเลย นี่ก็ปัญหาหนึ่ง ที่ต้องแก้

ยังมีอีกหลายอย่างหลายจุด จะเห็นว่า การทำสวนยาง ลำบากแค่ 3 ปีแรกครับ การลงทุนก็ไม่มาก ยิ่งเราขอทุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางได้ด้วยแล้ว การลงทุนก็จะมีน้อยครับ 

 

เมื่อยางตัดได้แล้ว ก็ค่อยสบาย เพราะเพียงแค่ใส่ปุ๋ยให้ปีละครั้งก็พอ ค่าใช้จ่าย ที่ต้องจ่ายหลังจากยางตัดได้แล้ว   ค่าใส่ปุ๋ย กับค่าตัดหญ้าภายในสวน นอกนั้นเท่าที่นึกแล้วไม่มีรายจ่ายอะไรอีก หากราคายางดี ก็ถือว่าคุ้ม

 

น่าจะพอเข้าใจถึงแนวทางและปัญหาในการทำสวนยาง  เผื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจ เพราะเป็นสวนที่รายได้ เป็นรายเดือน ไม่ใช่รายปี เราสามารถบริหารงบรายจ่ายของเราได้ เมื่อยางตัดได้แล้ว เราสามารถไปสร้างงานในสายอื่นได้อีกต่อไป

news via inbox

ต้องการรับข้อมูลข่าวสาร

Leave A Comment